อายุของยาง…เป็นเพียงตัวเลขหรือความเชื่อ?
ความ ปลอดภัยของการขับขี่เป็นเรื่องที่สำคัญ การเลือกซื้อยางรถยนต์จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของรถทุกคนให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากยางคือสิ่งที่ต้องสัมผัสกับพื้นถนนอยู่ตลอดเวลา การยึดเกาะถนน การทนทานต่อความร้อนและแรงเสียดทาน เป็นสิ่งที่สำคัญต่อความปลอดภัยในการเดินทาง
ทว่าหลายคนก็ยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเลือกซื้อยางอยู่ เพราะได้รับฟัง หรือได้อ่านเรื่องราวความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ “อายุการผลิตของยาง” จนทำให้เจ้าของรถในเมืองไทยจำนวนไม่น้อย คำนึงถึงวันผลิตที่ติดอยู่บนแก้มยางหรือ DOT (Department of Transportation) มากจนเกินความจำเป็น เพราะแท้จริงแล้วการเลือกซื้อยางที่ถูกต้อง ควรเลือกซื้อยางที่มีขนาดที่ถูกต้อง เหมาะกับประเภทของรถ การใช้งาน คุณภาพ และควรให้ความใส่ใจการดูแลรักษายาง
จากการ ศึกษาและวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐบาล และบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่า แท้จริงแล้ว วันผลิตของยางไม่ได้มีผลกับสมรรถภาพของยางอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโดยปกติ ยางที่ผลิตออกมานั้น เมื่อมีการจัดเก็บที่ดีพอ เช่น การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม และยังไม่ได้เริ่มใช้งาน ก็จะสามารถเก็บยางเส้นนั้นๆ ได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่เสื่อมสภาพ
กรม ทรัพยากรอุตสาหกรรมของประเทศเกาหลีใต้ ได้เคยออกเอกสารที่มีข้อความที่ไม่ถูกต้องเมื่อ พ.ศ. 2550 ว่ายางที่ผลิตนานกว่าหนึ่งปี อาจจะมีผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่ได้ แต่ท้ายที่สุด ความเชื่อที่คลาดเคลื่อนนี้ก็ได้ลบล้างไป หลังจากกรมคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเกาหลีใต้ ได้จัดการทดสอบเพื่อพิสูจน์ระดับความปลอดภัยในการใช้ยาง ระหว่าง ยางใหม่ และ ยางที่ผลิตย้อนหลังไปสามปี (พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2550) ซึ่งด้วยการทดสอบแบบ KSM6750 เกี่ยวกับการขับขี่ด้วยความเร็วสูง และการขับขี่แบบหยุดเป็นระยะ ได้ผลลัพธ์ว่า แม้วันที่ผลิตจะแตกต่างกัน แต่ประสิทธิภาพและสมรรถนะของยาง เหมือนกันทุกประการ
นอกจาก นั้น กรมคมนาคมของประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเคยตีพิมพ์บทความเรื่อง “ประสิทธิภาพของยางรถที่มีการเติมลมแล้ว” (The Pneumatic Tier) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดยระบุว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นขณะที่ยางมีการใช้งาน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยางเสื่อมสภาพ ยางรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 ก.ม./ชม. สามารถทำให้เกิดอุณหภูมิที่หน้ายางสูงขึ้นถึง 75 องศาเซลเซียส แต่หากความดันในลมยางน้อยกว่าปกติ (เช่น ยางแบน) ก็จะยิ่งทำให้ความร้อนหน้ายางสูงมากกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
ดัง นั้น อุณหภูมิในโกดังที่จัดเก็บยางรถยนต์ก่อนการใช้งานจริง จึงมีผลต่อคุณภาพของเนื้อยางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับความร้อนที่เกิดจากแรงเสียดสี เมื่อนำยางไปใช้ในการขับขี่จริง เพราะโดยทั่วไปนั้น ยางที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน สามารถเก็บได้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนการใช้งานจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาจากคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
อีก ตัวอย่างหนึ่ง ได้จากการทดสอบของประเทศในฝั่งยุโรป โดยองค์กร ADAC หรือ Allgemeiner Deutscher Automobil-Club ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อผู้ขับขี่รถยนต์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี ได้พิสูจน์เรื่องสมรรถนะของยางเอาไว้ในเดือนมิถุนายน 2553 โดยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพยางรถยนต์ที่ผลิตใน พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2547 สำหรับการขับขี่ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน ซึ่งผลการทดสอบก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ยางที่ผลิตใหม่จะมีสมรรถนะเหนือกว่ายางที่ผลิตมานานกว่า
ขณะ เดียวกัน ทางประเทศไทยเอง ก็มีหน่วยงานภาควิชาการที่ได้ทำการทดสอบในลักษณะเดียวกัน โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ TUV Rheinland Group Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ทดสอบ และให้การรับรองคุณภาพแก่ผลิตภัณฑ์ และสินค้าของบริษัทชั้นนำทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเยอรมนี ทำการทดสอบเพื่อหาข้อพิสูจน์ว่า ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยนั้น สมรรถนะของยางที่ผลิตใหม่ กับยางที่ผลิตมานานกว่า จะมีความแตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยหรือไม่
การ ทดสอบกระทำโดย นำยางรถยนต์ที่มีวันผลิตต่างกัน 1 ปีไปทดสอบการใช้งาน โดยการขับขี่ด้วยความเร็วสูงที่ 230 กม./ชม. ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องนาน 60 นาที ผลที่ได้จากการทดสอบพบว่า มีความแตกต่างกันไม่เกิน 1% รวมทั้งยังมีความสามารถในการบรรทุกหนัก และวิ่งเป็นระยะทางไกล ตลอดจนความแข็งแรงของหน้ายาง และโครงสร้างยางไม่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่วันผลิตยางนั้นห่างกันถึง 1 ปี
นอกจาก นั้น TUV Rheinland Group Ltd. ยังได้ทำการทดสอบว่า วันที่ของการผลิตที่แตกต่างกัน จะมีผลต่อสมรรถนะของยาง ในด้านความสามารถในการเกาะถนน การควบคุมการขับขี่ และการเบรคของยางหรือไม่ โดย TUV Rheinland Group Ltd. ได้ทำการทดสอบระยะการเบรคที่ความเร็ว 80 กม./ชม. จนกระทั่งหยุดนิ่ง ผลการทดสอบพบว่า ยางที่มีวันที่ของการผลิตแตกต่างกัน มีความสามารถในการเกาะถนน การควบคุมการขับขี่ และการเบรคใกล้เคียงกันมาก จนแทบจะไม่มีความแตกต่าง
นายชู เดช ดีประเสริฐกุล อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ยางที่มีวันที่การผลิตต่างกัน 2 ถึง 3 ปีจะให้สมรรถนะและประสบการณ์การขับขี่ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเก็บรักษายางในร้านด้วยว่า มีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสม รวมทั้งไม่โดนแดด เพราะอาจจะทำให้หน้ายางมีความยืดหยุ่นน้อยลง และแข็งขึ้น ดังนั้น การเลือกซื้อยางในร้านที่เชื่อถือได้จึงมีความสำคัญ แทนที่จะคำนึงเรื่องวัน เดือน ปี ที่ผลิตเป็นหลัก”
“ส่วน ความเชื่อที่ว่า ยางรุ่นเดียวกัน ถ้ายิ่งผลิตใหม่ที่สุด ก็จะยิ่งทำให้ได้รับยางที่ผลิตโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น และมีวัตถุดิบที่ดีขึ้น ก็ไม่ได้รับการยืนยัน เพราะยางในแต่ละรุ่นนั้น จะมีการใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน บางครั้งยางที่ผลิตก่อน อาจจะมีความเหนียวของยางมากกว่า ซึ่งทำให้การขับขี่มีสมรรถนะยิ่งขึ้น”
“สำหรับ คำแนะนำในการเลือกซื้อยางสำหรับผู้ขับขี่ชาวไทย คือ ต้องเลือกยางที่เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดของล้อ ส่วนวันที่ผลิตนั้น ไม่ถือเป็นสิ่งที่มีผลโดยตรงต่อการเสื่อมสภาพของยางแต่อย่างใด” นายชูเดช กล่าวสรุป
ถึง เวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้ใช้รถยนต์ทุกท่านจะมีวิธีการเลือกซื้อยางที่ถูกต้องและมอบความปลอดภัย แก่การขับขี่มากที่สุด การเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่าย ในการเลือกหายางที่ใหม่ที่สุดเพื่อใช้งานจะหมดไป เพราะในวันนี้ มีผลพิสูจน์จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือทั่วโลกแล้วว่า ยางใหม่และยางเก่าไม่แตกต่างกัน วันนี้ผู้ใช้รถทั่วโลกเริ่มตระหนักว่า การเลือกซื้อยาง ต้องเลือกยางที่เหมาะสมกับประเภทใช้งานและความต้องการ รวมทั้งเลือกขนาดของยางที่ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพและสมรรถนะของการขับขี่สูงสุด